-
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
-
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้การขนส่งมีราคาถูกลง ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและการให้บริการสั้นลง ในวันที่ตัวกลางในการดำเนินการต่างๆ ถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ การใช้ Block Chain ในการติดตามห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถติดตามเวลาในการส่งสินค้าหรือความคืบหน้าในการให้บริการข้อมูลของผู้ให้บริการได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทไม่สามารถคำนึงถึงเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ กลุ่มบริษัทจึงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง ความเสี่ยงในการหยุดชะงักของธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental Social and Governance: ESG) ที่อาจเกิดจากการดำเนินงานของคู่ค้า นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการของกลุ่มบริษัทด้วย เช่น ประเด็นเรื่องแรงงาน และผลกระทบเชิงลบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลจากการบริหารจัดการที่ไม่ครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียจึงคาดหวังให้กลุ่มบริษัทบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงมีแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกคู่ค้า การควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการของคู่ค้าจนถึงกระบวนการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสามารถติดตาม ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ตลอดจนการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าด้วยความโปร่งใสตอบสนองต่อแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพจะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิตและช่วยส่งเสริมคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อส่วนรวม และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้กลุ่มบริษัทสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สูญเสียภาพลักษณ์ ฐานลูกค้าอาจลดลง จนอาจเกิดความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจได้
บริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและให้บริการต่างๆ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการส่งมอบสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน จึงได้มีการจัดทำจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าธุรกิจ (Supplier Code of Conduct) รวมทั้งได้ออกระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้า โดยการดำเนินงานของคู่ค้าต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ และที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎข้อบังคับสากลต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำการตรวจสอบให้มั่นใจว่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใสและปฏิบัติตามกฎกติกาที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ได้กำหนดให้คู่ค้าของบริษัทฯ ลงนามรับทราบจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าธุรกิจของบริษัทฯ และยินยอมให้มีการเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตและการให้บริการว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทฯ รวมถึงการจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบภายในสำหรับทุกบริษัทในเครือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคู่ค้าได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับตามที่กำหนดของบริษัทฯ อาทิ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเฟรนไชส์จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคู่ค้าของเจ้าของเฟรนไชส์ หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการเดินเรือ จำเป็นต้องมีบริษัทตรวจสอบจากภายนอกที่ได้รับการรับรองมาร่วมตรวจสอบด้านการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักข้อปฏิบัติสากลด้วย
แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้า
- จัดซื้อจัดจ้างโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และการให้บริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทฯ
- จัดซื้อจัดจ้างโดยมุ่งเน้นด้านจริยธรรมทางธุรกิจ ไม่เอาเปรียบคู่ค้า และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน เปิดเผยและปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของคู่ค้า
- จัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในกิจการที่ดี
- จัดซื้อจัดจ้างและบริหารจัดการคู่ค้าอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental , Social and Governance : ESG) รวมถึงการกำกับดูแลคู่ค้าให้ดำเนินการตามจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าธุรกิจ (Supplier Code of Conduct) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
การคัดเลือกคู่ค้าของบริษัทฯ
เมื่อมีความจำเป็นต้องมีการจัดหาสินค้าและบริการ เจ้าหน้าที่จัดซื้อทำการคัดเลือกคู่ค้าจากรายชื่อคู่ค้าที่ขึ้นทะเบียน (Approved Supplier List) และดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ให้ข้อมูลความต้องการจัดหาสินค้าและ/หรือบริการที่ถูกต้องชัดเจน เพียงพอ เป็นธรรมต่อคู่ค้าทุกรายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการจัดหาครั้งนั้น เพื่อให้โอกาสคู่ค้าที่มีคุณสมบัติได้นำเสนอสินค้าและ/หรือบริการอย่างเท่าเทียม
- การคัดเลือกขั้นแรกยึดหลักการพิจารณา โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและ/หรือบริการ ราคาที่เหมาะสม รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆ ที่จำเป็น โดยคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกขั้นแรกต้องจัดทำแบบประเมินตนเอง ซึ่งครอบคลุมด้านสินค้าและบริการ ด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติการจัดหาในขั้นตอนถัดไป
- เจ้าหน้าที่จัดซื้อพิจารณาแบบประเมินตนเองจากคู่ค้า ร่วมกับคุณภาพของสินค้าและ/หรือบริการ ราคา และข้อกำหนดอื่นๆ ที่จำเป็น
- คะแนนมากกว่าร้อยละ 70 ถือว่าผ่านการประเมิน ให้รวบรวมผลนำเสนอให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ
- คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 70 ถือว่าไม่ผ่านการประเมิน ให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อแจ้งผลกับคู่ค้า และร่วมกันกำหนดแนวทางการป้องกันประเด็นที่อาจส่งผลกระทบด้านความยั่งยืนกับบริษัทฯ
- คู่ค้าที่ผ่านการอนุมัติแล้วจะถูกกำหนดสถานะว่าเป็นคู่ค้าหลัก หรือคู่ค้ารอง โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มคู่ค้า
- หลังจากได้เข้าร่วมทะเบียนคู่ค้าแล้ว คู่ค้าจะต้องผ่านการประเมินประสิทธิภาพการทำงานรายปี (Yearly Performance Evaluation) ผ่านแบบประเมินคู่ค้าโดยบริษัทฯ เป็นผู้ประเมิน ร่วมกับแบบประเมินตนเองของคู่ค้า เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน อีกทั้งในระหว่างปี บริษัทฯ สามารถร้องเรียนและนำเสนอปัญหาที่เกิดจากการใช้งานหรือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กรได้ โดยบริษัทฯ จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำประกอบกับวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานและคู่ค้าก่อนการประเมินอีกครั้ง
หลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มคู่ค้า
บริษัทฯ กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มประเภทคู่ค้า ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านการจัดซื้ออย่างเป็นระบบ รวมถึงนำไปเป็นข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำแนกหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มคู่ค้า ดังนี้
- คู่ค้าหลัก (Critical Supplier)
คู่ค้าที่มีมูลค่าสัญญาสูง คู่ค้าที่มียอดการใช้จ่ายสูง สินค้าทดแทนยาก และอยู่ในกลุ่มของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สำคัญต่อกระบวนการผลิต และมีความเสี่ยงสูงมากหรือความเสี่ยงสูง โดยบริษัทฯ กำหนดให้คู่ค้ากลุ่มนี้มีการประเมินผลการทำงานทุกปีผ่านแบบประเมินคู่ค้าโดยบริษัทฯ เป็นผู้ประเมิน ร่วมกับแบบประเมินตนเองของคู่ค้า และ/หรือเยี่ยมชมพื้นที่การปฏิบัติงาน (On Site Audit) โดยผ่านขั้นตอนการตรวจสอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการประเมินการตรวจสอบด้านการปฏิบัติอย่างยั่งยืน - คู่ค้ารอง (Non-Critical Supplier)
คู่ค้าที่มียอดการใช้บริการปานกลางหรือมูลค่าสัญญาต่ำ และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับกลางหรือความเสี่ยงต่ำ ซึ่งบริษัทฯ กำหนดให้มีการประเมินผลการทำงานเป็นประจำทุกปีผ่านแบบประเมินคู่ค้าโดยบริษัทฯ เป็นผู้ประเมิน ร่วมกับแบบประเมินตนเองของคู่ค้า และการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า
ปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน คือ การประเมินความเสี่ยง โดยเบื้องต้นบริษัทฯ มีระบบจัดการความเสี่ยงของคู่ค้า ประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน การตอบแบบประเมินคู่ค้าโดยบริษัทฯ และแบบประเมินตนเองของคู่ค้า เพื่อระบุคู่ค้าที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าของบริษัทฯ โดยแต่ละประเด็นมีรายละเอียด ดังนี้
- ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เช่น ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เป็นต้น
- ประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางเสียงและแรงสั่นสะเทือน การใช้น้ำและปล่อยน้ำเสีย การใช้พลังงาน การจัดการของเสีย วัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ที่มีสารพิษ และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
- ประเด็นความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล เช่น การทุจริต การหลีกเลี่ยงภาษี การแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
- ประเด็นความเสี่ยงด้านสังคม เช่น การจัดการด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น
ในปี 2564 บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากคู่ค้า พบว่า ไม่มีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ
โทรีเซน ชิปปิ้ง
การบริหารห่วงโซ่อุปทานเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินงาน บริษัทมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการพิจารณาถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น การวางแผนหาทางป้องกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการกำหนดแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำนึงถึงการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการประเด็นด้านความยั่งยืนทั้งด้านการกำกับดูแล สังคมและสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาองค์กรและคู่ค้าให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
PHC
Supplier Audit Standards (มาตรฐานการตรวจสอบคู่ค้า)
PHC ซึ่งเป็นธุรกิจเฟรนไชส์ของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคู่ค้าของเจ้าของ เฟรนไชส์ เพื่อตอบสนองภารกิจของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ในการเป็นแบรนด์ที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและส่งมอบความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าร้อยละ 100 ดังนั้นการที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ PHC จะถือปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารในทุกขั้นตอน เริ่มต้นด้วยการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตที่ดี การจัดเก็บผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมไปถึงการขนส่ง และการกระจายสินค้าไปยังร้าน PHC มาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารจากคู่ค้า มุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารในทุกกระบวนการผลิต โดยคู่ค้าต้องได้รับการประเมินในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวถูกดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับการรับรองและอนุมัติแล้วเท่านั้น และได้มีการแบ่งการตรวจสอบคู่ค้าตามประเภท เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนี้
- Food Safety Audit คือ การตรวจสอบที่ครอบคลุมในเรื่องความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยที่เฉพาะเจาะจงตามที่กำหนด
- Quality System Audit คือ การตรวจสอบในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตสินค้า และระบบการควบคุมคุณภาพของ ซัพพลายเออร์
- Distribution Audit คือ การตรวจสอบในเรื่องคุณภาพของคลังสินค้า มาตรฐานในการจัดเก็บสินค้าว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของประเภทสินค้า การป้องกันการปนเปื้อนระหว่างสินค้าที่จัดเก็บ และการตรวจสอบในเรื่องคุณภาพของการขนส่งผลิตภัณฑ์ว่าขนส่งภายใต้ข้อกำหนดของสินค้านั้น เช่น เรื่องอุณหภูมิ ความสะอาดของรถ สุขอนามัยของพนักงานขนส่ง ขั้นตอนการจัดสินค้าขึ้นและลงจากรถขนส่ง เป็นต้น
- Packaging Audit คือ การตรวจสอบที่ครอบคลุมข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารที่เฉพาะเจาะจง
- GFSI (Global Food Safety Initiative) Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับนานาชาติที่จัดทำขึ้น โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสุขอนามัย ในกรณีที่คู่ค้ามีการจัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพและได้รับผลการประเมิน GFSI ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของทาง PHC สามารถใช้เอกสารดังกล่าวแจ้งเพื่อยกเว้นการตรวจสอบตามมาตรฐานของ PHC ได้
การตรวจสอบออนไลน์จากระยะไกล (YUM! Remote Audit)
การตรวจสอบที่โรงงานเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินประสิทธิภาพของคู่ค้าตามเกณฑ์การตรวจสอบ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายในประเทศตลอดเวลา ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางและการเข้าไปตรวจสอบที่โรงงาน การตรวจสอบออนไลน์จากระยะไกลจึงเป็นตัวเลือกที่เข้ามาทดแทนได้เป็นอย่างดีในปี 2564 นี้ การตรวจสอบระยะไกลจะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งโปรแกรมนี้ได้รับการพัฒนากระบวนการตรวจสอบ และรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ให้เสมือนกับการตรวจสอบที่โรงงาน อย่างไรก็ดีการตรวจสอบเอกสาร จะใช้การส่งและบันทึกหน้าจอที่ใช้ร่วมกันในขณะตรวจเพื่อความโปร่งใส ดังนั้นการตรวจสอบออนไลน์จึงเป็นวิธีการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้ซึ่งข้อมูลและหลักฐานที่ครบถ้วนเป็นรูปธรรมจากระยะไกล และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผลิตจะสามารถปฏิบัติและผลิตสินค้าได้ตรงตามเกณฑ์ของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ อยู่เสมอ หรือหากมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ก็สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
AIM
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ เนื่องจากสภาวะตลาด รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง นอกจากจะต้องปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสภาวการณ์ใหม่ๆ แล้ว ยังต้องใช้ “การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน” มาบริหารความสัมพันธ์ และกระบวนการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ได้บริการที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งยึดหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ดังนั้นบริษัทจึงอยู่ระหว่างการศึกษาการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีศักยภาพร่วมกับคู่ค้าทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกัน
-
การจัดหาวัตถุดิบ
-
การจัดหาวัตถุดิบ
กลุ่มบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีความมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความใส่ใจในการจัดหาวัตถุดิบเป็นอย่างมาก เนื่องจากการประกอบอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าเป็นอันดับแรก เพราะหมายถึงการได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กลุ่มคู่ค้าซึ่งถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าธุรกิจของบริษัทฯ
โทรีเซน ชิปปิ้ง
บริษัทมีการทำงานโดยยึดกรอบนโยบายด้านการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ สินค้า รวมถึงการจัดหาจัดจ้างผู้ให้บริการ โดยมุ่งเน้นคุณภาพ ความรวดเร็ว การบริหารจัดการต้นทุนที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุด และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดยมุ่งหวังในการพัฒนาองค์กรและคู่ค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ทั้งนี้บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจการขนส่งทางทะเล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านมลภาวะทางน้ำ และ/หรือ ทางอากาศ ดังนั้นบริษัทจึงมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการพัฒนาแผนงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานให้มากที่สุด บริษัทได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ (low sulphur fuel oil) แทนน้ำมันเตากำมะถันสูง (high sulphur fuel oil) รวมถึงการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการเดินเรือ บริษัทจะพิจารณาตามแผนการเดินเรือในแต่ละเที่ยว โดยดูจากปริมาณน้ำมัน ประเภทน้ำมัน และท่าเรือที่จะใช้เติมน้ำมัน รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของบริษัทผู้ค้าน้ำมันทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูงสุด
PHC และ STC
PHC และ STC ซึ่งเป็นธุรกิจเฟรนไชส์ของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของการเป็นบริษัทเฟรนไชส์ ซึ่งรวมถึงการจัดหาวัตถุดิบต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานที่เจ้าของเฟรนไชส์กำหนด รวมทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบก็ถูกกำหนดไว้ด้วยเช่นกัน โดย PHC และ STC ได้ปฏิบัติตามนโยบายการจัดหาน้ำมันปาล์มและบรรจุภัณฑ์จากป่าปลูกของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ อีกทั้ง STC ยังมีนโยบายการใช้กระดาษที่ผลิตด้วยต้นไม้จากป่าปลูก โดยไม่มีการใช้ไม้จากป่าธรรมชาติ จึงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ วัตถุดิบทุกชนิดที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านอาหารและตรวจสอบด้านคุณภาพตามนโยบายของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์เช่นกัน
ในการจัดหาวัตถุดิบ บริษัทได้มีแผนกที่รับผิดชอบเรื่องการสรรหาวัตถุดิบและการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัตถุดิบให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเป็นบุคคลซึ่งคนละกลุ่มกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานจัดซื้อ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใสอีกด้วย สำหรับ PHC และ STC ได้มอบหมายให้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Procurement Manager) ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงติดตามตรวจสอบวัตถุดิบให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์
บริษัทมีการดำเนินงานด้านการจัดหาวัตถุดิบกับคู่ค้าของบริษัท โดยการออกใบรับรองให้กับคู่ค้าเพื่อหลีกเลี่ยงคู่ค้าที่ประกอบธุรกิจโดยปราศจากจรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมถึงการไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น PHC ยังดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท SCG ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับความไว้วางใจในการผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลิตจากต้นไม้จากป่าปลูก ไม่ทำลายป่าธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้ ทั้งนี้ การประเมินและตรวจสอบคู่ค้าถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษต้องมีมาตรฐานผ่านการรับรอง ได้แก่ สภาควบคุมป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC), โครงการสำหรับการเทียบเคียงการรับรองป่าไม้ (Program for the endorsement of Forestry Certification: PEFC) หรือ การรับรองความริเริ่มด้านป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forestry Initiative: SFI) และนอกจากนั้น บริษัทยังดำเนินการตรวจสอบราคาและคู่ค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
AIM
การให้บริการการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย งานวางท่อ และซ่อมแซมท่อประปา มีวัสดุและอุปกรณ์หลักที่ใช้ในกระบวนการทำงาน ได้แก่ ท่อ ท่อประปาทุกประเภท เช่น ท่อพีวีซี ท่อ HDPE เป็นต้น และอุปกรณ์ประกอบติดตั้งประปา เช่น ข้อต่อ ข้องอ เป็นต้น บริษัทจะจัดซื้อสินค้าและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโรงงานผู้จำหน่ายที่ผ่านการรับรองจากการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง โดยจะพิจารณาถึงการแข่งขันทางด้านราคาที่เหมาะสมกับการใช้งาน และการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
-
คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
-
คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจด้านสุขภาพและนิยมสินค้าหรือบริการเพื่อสุขภาพรวมถึงสินค้าออร์แกนิคมากขึ้น เช่น การเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บหรือความเสี่ยงจากการแพ้อาหารบางประเภท ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงให้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากกว่าปริมาณของสินค้าและบริการที่มอบให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
โทรีเซน ชิปปิ้ง
โทรีเซน ชิปปิ้งมีความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานการบริการให้มีคุณภาพที่ดี สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ทั้งนี้บริษัทมีความเชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ในการให้บริการขนส่งสินค้าแห้งเทกองทางทะเลทั้งในส่วนสินค้ากลุ่มหลัก อาทิ ถ่านหิน แร่/สินแร่ และเมล็ดธัญพืช และในส่วนของสินค้าแห้งเทกองกลุ่มย่อย อาทิ เหล็ก ปุ๋ย ซีเมนต์ ผลผลิตทางการเกษตร และอื่นๆ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัท จึงสามารถสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าของบริษัทได้เป็นอย่างดี ว่าจะได้รับการบริการที่ดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด
PHC และ STC
การให้บริการอาหารที่ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต สุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้บริโภค และท้ายที่สุดจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่มบริษัท การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากต้องใช้ระยะเวลาและต้นทุนแล้ว หากถึงขั้นต้องยุติการประกอบกิจการ จะมีผลกระทบต่อพนักงานที่ต้องตกงาน ขาดรายได้เข้าไปจุนเจือครอบครัว ดังนั้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาหารจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการแก้ปัญหา นอกจากทำให้ลูกค้ามีสุขภาพดีแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและมีการบริโภคสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
บริษัทประกอบธุรกิจด้านอาหารในลักษณะเฟรนไชส์ของร้านอาหารพิซซ่า ฮัท และทาโก้ เบล ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีความรับผิดชอบในการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค บริษัทมีนโยบายควบคุมความปลอดภัยของอาหาร โดยผู้จัดการร้านทุกสาขาต้องได้รับใบอนุญาตผู้สัมผัสอาหารจากกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายอาหารปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งมีนโยบายด้านการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารตามข้อกำหนดของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise Policy) นอกจากนี้บริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการบรรลุตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐาน ISO ต่างๆ, มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงระบบบริหารคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีการจัดอบรมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารให้แก่พนักงานภายในร้านทุกคน ทั้งในรูปแบบห้องเรียนและรูปแบบออนไลน์ เช่น พนักงานต้องล้างมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปในบริเวณประกอบอาหารและก่อนสัมผัสอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ปรุงภายในร้านมีความสะอาดและปลอดภัยก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า เป็นต้น รวมถึงการฝึกอบรมให้กับคู่ค้าในรูปแบบห้องเรียนและการฝึกสอนให้รายบุคคลทุกปี เพื่อให้คู่ค้ามีความเข้าใจในมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสินค้าที่ผลิตให้กับบริษัท
โดยในปี 2564 พนักงานในร้านพิซซ่า ฮัท และทาโก้ เบลล์ ทุกคนได้ผ่านการอบรมด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีคู่ค้าที่ผ่านการฝึกอบรมมาตรฐานความปลอดภัย ร้อยละ 100 ของคู่ค้าของร้านพิซซ่า ฮัท ทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทผักจากผู้ผลิตที่จัดทำ Good Agricultural Practice Standard (GAP) และมีนโยบายการควบคุมความปลอดภัยทางด้านอาหารอีกด้วย
ตารางแสดงผลการดำเนินงานการฝึกอบรมด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ร้อยละของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 พนักงาน 100 100 100 คู่ค้า 100 100 100 PHC และ STC มีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค บริษัทจึงมีเป้าหมายดำเนินการตรวจสอบด้านความปลอดภัยร้านอาหาร รวมถึงคู่ค้าทุกรายเป็นประจำทุกปี และสาขาของบริษัทจะต้องได้รับการตรวจสอบให้ผ่านตามข้อกำหนดมาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร มาตรฐานแบรนด์ และมาตรฐานกฎหมายภายในประเทศฯ เฉลี่ยปีละ 2.25 ครั้ง โดยบริษัทตรวจสอบจากภายนอกที่ได้รับการรับรองและมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่เจ้าของเฟรนไชส์เป็นผู้มอบหมายมา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละร้านและทำการแก้ไขปรับปรุง
สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 ทำให้บางพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ควบคุม และไม่อนุญาตให้มีการเข้าสู่พื้นที่บริเวณดังกล่าวในช่วงเดือนที่กำหนด ทำให้ร้านอาหารบางร้านมีการตรวจสอบมาตรฐานแบบทางไกล (ตรวจสอบแบบรีโมททางออนไลน์) ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
ร้านพิซซ่า ฮัท มีผู้จัดการร้านในแต่ละสาขาเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารและมีหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการอาหารปลอดภัย (Food Safety Committee) ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพวัตถุดิบจำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพส่วนของร้านอาหารจำนวน 2 คน โดยมีการประชุมเกี่ยวกับผลการตรวจสอบ ซึ่งจะนำไปหารือเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการบริการ และนำไปเสนอต่อหัวหน้าทีม ทีมจัดการร้านและแผนกต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจในกระบวนการดำเนินงานรวมถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารก่อนส่งถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ สำหรับ PHC ยังมีข้อมูลด้านโภชนาการ (Nutrition Transparency) เปิดเผยบนเว็บไซต์เพื่อเป็นข้อมูลสารอาหารให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
กระบวนการตรวจสอบร้านอาหารพิซซ่า ฮัท
กระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียน
ตารางแสดงจำนวนข้อร้องเรียนด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
จำนวนข้อร้องเรียน (ครั้ง) ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับทั้งหมด 430 416 282 จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับการแก้ไข 430 416 282 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1150 เว็บไซต์ของบริษัท www.pizzahut.co.th และทาง Social Media ที่ www.facebook.com/pizzahutthailand ซึ่งหากมีข้อร้องเรียนด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ หน่วยงาน call center จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบในขั้นต้น และรายงานต่อหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบแล้วจะดำเนินการแก้ไขและดำเนินการชดเชยให้แก่ลูกค้าโดยฝ่ายปฏิบัติการ จากนั้นบริษัทจะสรุปประเด็นข้อร้องเรียน เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคตต่อไป
PHC ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Safety & Health Administration: SHA) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการ หรือข้อกำหนดเบื้องต้นที่สถานประกอบการพึงมี เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาจากมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับมาตรฐานของสินค้าทางการท่องเที่ยว โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำสัญลักษณ์ SHA เพื่อรับรองคุณภาพของสถานประกอบการนั้นๆ และเมื่อได้รับสัญลักษณ์แล้ว ผู้ประกอบการจะถูกประเมิน รวมถึงมีการสุ่มตรวจจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นระยะอีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า PHC เป็นหนึ่งในสถานประกอบการที่ดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย
PHC ได้รับความเห็นชอบจากกรมอนามัยให้เป็นหน่วยงานจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร เนื่องจากผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบ ปรุง ประกอบอาหาร และให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัย รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนาการ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ หลักการสุขาภิบาล และสุขวิทยาส่วนบุคคล รวมถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้อง พนักงานของ PHC ถือเป็นผู้สัมผัสอาหารที่ต้องผ่านการอบรมดังกล่าว PHC จึงแสดงความประสงค์ขอความเห็นชอบจากกรมอนามัยเพื่อเป็นหน่วยงานการจัดการอบรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ PHC สามารถฝึกอบรมพนักงานของ PHC เองได้อย่างเต็มที่ และพนักงานของ PHC สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและสามารถบริการอาหารที่สะอาด ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดีในสถานที่จำหน่ายอาหารอีกด้วย
AIM
บริษัทมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการ ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย โดยงานหลักของบริษัทคือ การบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะสามารถลดปริมาณน้ำสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญของบริษัท
-
การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์
-
การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์
ลูกค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ หากปราศจากลูกค้าธุรกิจจะไม่สามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น การเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าจะช่วยให้บริษัทเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ ปัจจุบันคนไทยกว่าร้อยละ 70 ใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ได้ดีขึ้น เช่น การสร้างแอปพลิเคชั่นสำหรับประชาสัมพันธ์บริษัท และการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านทางหน้าเว็บไซต์ รวมถึงการใช้ข้อมูลที่มีทั้งหมดเข้ามาช่วยในการวางกลยุทธ์ของบริษัท
กลุ่มบริษัทถือเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์ความต้องการและตอบสนองลูกค้าอย่างตรงจุด ดังนั้น การบริหารจัดการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพจะทำให้กลุ่มบริษัทได้รับความไว้วางใจ สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ รวมถึงทำให้ลูกค้าหันมาใช้สินค้าและบริการจากกลุ่มบริษัทมากขึ้นถือเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับกลุ่มบริษัท
บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อลูกค้า ซึ่งกำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2552 และมีการแก้ไขล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 โดยภายหลังการแก้ไขจรรยาบรรณธุรกิจทุกครั้ง บริษัทฯ จะดำเนินการสื่อสารให้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบทุกครั้ง พร้อมกับจัดให้มีการทดสอบความรู้ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.thoresen.com
โทรีเซน ชิปปิ้ง
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานการบริการให้มีคุณภาพที่ดี สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมาโทรีเซน ชิปปิ้งยังคงมุ่นเน้นในการรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงขยายฐานลูกค้าใหม่ เพื่อต่อยอดโอกาสในการขยายธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างความสัมพันธ์อันดี การให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ดี มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ถึอเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระดับการให้บริการแก่ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีเกิดความพึงพอใจสูงสุด
PHC และ STC
ในด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น PHC ซึ่งเป็นธุรกิจเฟรนไชส์ มีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดย PHC ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าจากฐานข้อมูล เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมทั้งมีการจัดแคมเปญของรายการอาหารหรือสินค้าตามกลุ่มลูกค้าอีกด้วย โดยมีผู้จัดการร้านและหน่วยงานส่วนกลางของ PHC ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
PHC ได้ทำการประเมินและสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าโดยวิธีการตอบแบบสอบถามออนไลน์หรือทาง SMS โดยจำนวนที่ทำการประเมินและสำรวจสอดคล้องและเป็นไปตามที่บริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์กำหนด ในการทำแบบสอบถามมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับรสชาติอาหาร ภาพลักษณ์ ราคา และความพึงพอใจอื่นๆ โดยข้อมูลการทำการวิจัยตลาด (Market Research) จากฝ่ายการตลาดและเอาท์ซอร์ส (Outsource) ของ PHC แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีผลความพึงพอใจในการให้บริการดังนี้
ตัวชี้วัด ผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการของลูกค้า ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 % OSAT (GES) 77 79 83 หมายเหตุ : OSAT Overall Satisfaction คือ อัตราแสดงความพึงพอใจในการใช้บริการของลูกค้า
GES คือ Guest Experience Survey
คะแนนที่รายงาน คือ ของลูกค้าที่เข้าทำแบบทดสอบที่ rate พีงพอใจอย่างยิ่ง
สำหรับ STC เองก็มีการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าเช่นเดียวกันโดยให้ลูกค้าสามารถส่งแบบประเมินตามรายละเอียดในท้ายใบเสร็จ โดยมีการตั้งตำถามในหลายมิติ เช่น ความพึงพอใจของสินค้า บริการ ความสะอาด มาตรการความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น
นอกจากนั้น PHC มีช่องทางสำหรับให้ลูกค้าร้องเรียนหรือแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1150 หรือเว็บไซต์ของบริษัท www.pizzahut.co.th ซึ่ง PHC ทำการเก็บข้อมูลการร้องเรียนของลูกค้า เพื่อใช้ในการปรับปรุงการให้บริการต่อไป ในกรณีที่เกิดการร้องเรียนด้านการให้บริการของร้าน ผู้จัดการร้านจะทำการวิเคราะห์ปัญหาหรือข้อร้องเรียนที่ได้รับ โดยจะทำการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา สถานที่ที่เกิดข้อร้องเรียน จำนวนครั้งที่เกิดข้อร้องเรียน เป็นต้น จากนั้นบริษัทจะสรุปประเด็นข้อร้องเรียน เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคตต่อไป และทำการวัดผลการแก้ไขข้อร้องเรียน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีข้อร้องเรียนในด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้บริการของร้านพิซซ่า ฮัท
นอกจากนี้ PHC ยังมีการจัดแข่งขันสำหรับทุกสาขาทั่วประเทศในด้านของการเพิ่มระดับคะแนนความพึงพอใจของลูกค้า เช่นเดียวกับปัจจัยด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า เช่น ความเร็วในการบริการ ความเป็นมิตรของพนักงาน เป็นต้น ทางบริษัทยังได้จัดการอบรมแบบเต็มวันสำหรับโครงการ GES (ภาพรวมของโครงการและประเด็นเรื่องสุขลักษณะ) และการฝึกปฏิบัติพิเศษเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ในการให้ความร่วมมือกับการควบคุมโรคภายในประเทศ และเพื่อให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะจากบริษัท
AIM
บริษัทมีการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าตามกลยุทธ์ในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจการตลาดที่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ให้เกิดเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ครอบคลุมกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
-
เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนา
-
เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนา
บริษัทให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในด้านความสะดวกสบายและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัทใส่ใจถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเป็นอยู่ที่ดีของสังคม โดยยึดแนวปฎิบัติที่ดี และดำเนินการบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปริมาณขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนาระบบสารสนเทศตามมาตรฐานสากล
บริษัทมุ่งเน้นที่จะสร้างความแข็งแกร่งด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่สังคม
ความรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตและการประกอบธุรกิจโลก ก่อให้เกิดความท้าทายในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มฐานลูกค้าให้กับกลุ่มบริษัทฯ พร้อมทั้งช่วยประหยัดต้นทุนอันเกิดจากการดำเนินงานอีกด้วย กลุ่มบริษัทมีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาและการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กร และกำหนดกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางและแผนพัฒนาธุรกิจของกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง
โทรีเซน ชิปปิ้ง
บริษัทมีการพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวกับธุรกิจขนส่งทางเรือ ทำให้การขนส่งสินค้ามีความรวดเร็วและตรงเวลา สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ และมอบหมายให้หน่วยงานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดำเนินการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การติดกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันโจรสลัด นอกจากนี้บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยได้ทำการติดตั้งระบบบำบัดน้ำอับเฉาเรือ (Ballast Water Treatment) จากคู่ค้าที่มีประสบการณ์ในสหรัฐอเมริกาให้กับเรือขนส่งสินค้าของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำอับเฉาเรือสะอาดและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก่อนปล่อยลงสู่ทะเลอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีการนำซอฟต์แวร์ NS Enterprise สำหรับการบริหารจัดการด้านการดำเนินงานและการบำรุงรักษามาใช้ในการเก็บข้อมูลด้านการจัดซื้อ การซ่อมบำรุงตามตารางและซ่อมบำรุงใหญ่ การจัดการบุคลากร ซึ่งช่วยรวบรวมข้อมูลศูนย์กลางของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้กับผู้ใช้งาน (user) พัฒนาซอร์ฟแวร์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้ง่ายขึ้น และพัฒนาระบบต่างๆ ตามข้อกำหนดสากล
PHC และ STC
ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร PHC และ STC นั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หน่วยงานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการให้บริการ ซึ่ง PHC ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตที่ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้นโดยผ่านการใช้ Food Application มีการร่วมมือกับแกร็บฟู้ด (Grab Food) และฟู้ดแพนด้า (Food Panda) เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการให้กับลูกค้าในการเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น พร้อมกันนั้นยังมีการพัฒนาระบบ POS เช่น E-Wallet หรือการชำระเงินผ่าน QR Code มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่กำลังมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วไปในทิศทางคล้ายกันทั่วโลก และปรับปรุงเว็บไซต์ของบริษัท และนำระบบ POS (Point of Sales) รูปแบบใหม่มาใช้ เพื่อรองรับการเติบโตธุรกิจอาหารในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งด้านการขายและช่องทางการรับชำระเงิน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบข้อมูลภายใน เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้า และใช้ระบบโปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยในการวิเคราะห์ของมูลของลูกค้า (Customer Relationship Management)
ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น กลุ่มบริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจร้านอาหาร PHC ได้มีการศึกษาเทรนด์โลกโดยทดลองกับลูกค้าจริง รวมถึงศึกษาความสำเร็จระดับโลกของธุรกิจร้านอาหารพิซซ่า ฮัทในประเทศต่างๆ ด้วย โดยได้ร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาสินค้าเพื่อให้มีความหลากหลายทางผลิตภัณฑ์มากขึ้น และพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต มีการใช้ข้อมูลของผู้ให้บริการส่งอาหาร เช่น แกร็บฟู้ด (Grab Food) ไลน์แมน (Lineman) ฟู้ด แพนด้า (Food Panda) ในการวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า เช่น อาหารชุดเล็กที่สามารถทานคนเดียว เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการแก่ลูกค้าเพราะขนส่งสินค้าได้ตรงเวลา และยังเป็นการช่วยขยายการเติบโตให้กับคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัท PHC มีการพัฒนากระบวนการผลิตโดยการใช้เตาทอดที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำมันใช้แล้ว ประหยัดค่าไฟ และลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน รวมทั้งมีการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตความร้อนที่ใช้ในการทำพิซซ่าเพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของอาหาร และมีการตรวจสอบจนถึงผู้ผลิตและเกษตรกร
AIM
บริษัทนำเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำประปาและสามารถดื่มได้แบบเคลื่อนที่ ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ โดยได้มีโอกาสนำระบบผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ได้ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ไปช่วยประชาชนที่ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในช่วงปี 2554 เช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดอยุธยา จังหวัดสงขลา เป็นต้น
-
การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
-
การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
การทุจริตยังคงเป็นภัยคุกคามระดับโลก ทุกองค์กรจึงควรให้ความสำคัญและร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันในทุกรูปแบบจะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น กำไรขององค์กรย่อมจะลดลงหากราคาสินค้าเท่าเดิม ในทางกลับกันถ้าเราเพิ่มราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้านั้นๆ ก็อาจลดลงไปด้วย ถ้ากลุ่มบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มบริษัทดีขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าก็อาจเพิ่มขึ้นตามลำดับ กลุ่มบริษัทเชื่อว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายคงยินดีที่จะร่วมงาน หรือลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถขยายธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทฯ มีนโยบายการต่อต้านการ คอร์รัปชันตั้งแต่ปี 2553 ล่าสุดได้มีการแก้ไขนโยบายดังกล่าวเป็นระยะ เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน โดยสามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมของนโยบายดังกล่าวได้ที่ www.thoresen.com นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ยังมีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Against Corruption หรือ CAC ) ซึ่งบริษัทฯ และ PHC ได้ยื่นประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 และ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่ากลุ่มบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) จากการพิจารณาของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นอกจากนี้บริษัทยังขอความร่วมมือคู่ค้าให้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และเชิญชวนเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัทฯ ได้กำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนด้านทุจริตคอร์รัปชันไว้หลากหลายรูปแบบ เช่น จดหมาย อีเมล หรือสามารถร้องเรียนได้โดยตรงผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายใน เป็นต้น ซึ่งหากมีข้อร้องเรียนด้านทุจริตคอร์รัปชัน หน่วยงานตรวจสอบภายใน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบเบื้องต้น และรายงานต่อไปยังคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบ รวมทั้งบทลงโทษต่อไป ในกรณีมีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นกรณีที่มีการทุจริตคอร์รัปชันจริง โดยปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังไม่เคยปรากฏมีเหตุการณ์การทุจริตคอร์รัปชันใดๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะไม่ให้มีเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในทุกๆ ปี
ช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบกรณีเกิดการคอร์รัปชัน
- เว็บไซต์ www.thoresen.com
- อีเมล whistleblowing@thoresen.com
- ทางไปรษณีย์ ที่ตู้ ป.ณ.12 ปณฝ. ไทยพาณิชย์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
จำนวนข้อร้องเรียน (ครั้ง) ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 จำนวนข้อร้องเรียนด้านทุจริตคอร์รัปชันที่ได้รับ 0 0 0 จำนวนข้อร้องเรียนด้านทุจริตคอร์รัปชันที่ตัดสินแล้วว่ามีความผิด 0 0 0 โทรีเซน ชิปปิ้ง
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีคุณธรรมควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยถือหลักการดำเนินธุรกิจตามกฎระเบียบข้อบังคับของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรม โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน
PHC
“ความสำเร็จที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้จากการร่วมใจในการบริหาร และปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และมุ่งมั่นประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะมีใครหรือกลไกในการเฝ้าระวังอยู่หรือไม่ก็ตาม”
สารจาก คุณวุฒิชัย รัตนสุมาวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป
บริษัท PHC ประเทศไทยPHCได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) จากการพิจารณาของคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ตามลำดับ
AIM
บริษัทมีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และเพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ