การกำกับดูแลกิจการ ("CG")

หมายถึง ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างความสัมพันธ์และแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ("คณะกรรมการบริษัท") และฝ่ายจัดการของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯในระยะยาว สร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น และเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว

หลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ มีดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดของกฎหมาย
การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎบัตร กฎเกณฑ์ มติของ คณะกรรมการหรือของผู้ถือหุ้น
ความรับผิดชอบ
ผู้เกี่ยวข้องทุกราย รวมถึงคณะกรรมการและ ฝ่ายจัดการจะต้องตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ความโปร่งใส
การประกอบธุรกิจและการดำเนินการทางธุรกิจจะ ต้องสามารถตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส
การมีส่วนร่วม
ต้องรับรู้และยอมรับในสิทธิของผู้ถือหุ้นและ ผู้มีส่วนได้เสียในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของบริษัทฯ
หลักความคุ้มค่า
ในการลงทุนและการใช้ทรัพยากรทั้งหลาย จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐกิจ

สรุปผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในรอบปีที่ผ่านมา

คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ การกำกับดูแลความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงขององค์กร หรือการให้ความเห็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร

ในปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีการประชุม 8 ครั้ง และมีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารอีก 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ตลอดจนผลักดันในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้

  • พิจารณาและอนุมัติวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมองค์กร และกลยุทธ์สำคัญของบริษัทฯ และกลุ่มบริษัท สำหรับปี 2567-2569 ตลอดจนแผนธุรกิจและงบประมาณประจำปี 2567 ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 08/2566 ในเดือนธันวาคม 2566
  • ติดตามให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทไปปฏิบัติ โดยให้ฝ่ายบริหารรายงานผลการปฏิบัติตามกลยุทธ์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นรายไตรมาส และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารเป็นรายเดือน
  • พิจารณาและอนุมัติในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน การบริหารจัดการบุคลากรที่สำคัญ และการบริหารจัดการด้านการเงิน งบการเงินรายไตรมาส แบบประเมินความเพียงพอของการควบคุมภายใน การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ (Directors and Officers Liability Insurance)
  • พิจารณาและอนุมัติการทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบการกำกับดูแลกิจการ รายละเอียดปรากฏตาม หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญเกี่ยวกับการทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบการกำกับดูแลกิจการ หรือกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยในรอบปีที่ผ่านมา” ในแบบ 56-1 One Report ฉบับนี้ และ
  • พิจารณารับทราบในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้
    • รับทราบและให้ความเห็นต่อรายงานของคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ ได้แก่ รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ รายงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ รายงานคณะกรรมการบริหาร รายงานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน รายงานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และรายงานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565
    • รับทราบรายงานจากการประชุมของคณะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุม ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จากการประชุม 2 ครั้งในปี 2566 คือ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566
    • รับทราบผลการประเมินรายชื่อหุ้นยั่งยืน (ESG Ratings) ที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)
    • รับทราบผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ภายใต้การสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และ
    • รับทราบผลการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ที่ประกาศโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)