การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม

จากประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนที่บริษัทฯ ได้ประเมินจากปัจจัยภายในและภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและต่อบริษัทฯ โดยตระหนักว่าการดำเนินธุรกิจอาจมีกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ดังนั้นในการจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ จะครอบคลุมถึงการจัดการความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ¬¬¬ รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น และหลักการในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยรวมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายมาตรฐานสากล รวมทั้งยังมีการกำหนดให้ทบทวนนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและครอบคลุมประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้การแก้ไขนโยบายสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท

นโยบายสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่าการบริหารจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะบูรณาการการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้กำหนด นโยบายสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์บริษัทฯ (https://www.thoresen.com/storage/download/corporate-documents/20220520-tta-environmental-policy-th.pdf) และมีแนวทางปฏิบัติตามนโยบายสิ่งแวดล้อม ดังนี้

Environmental Policy

ในปี 2566 บริษัทฯ จัดอบรม สื่อสารนโยบายสิ่งแวดล้อมผ่านระบบออนไลน์ให้กับพนักงานในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เพื่อรับทราบและปฏิบัติ โดยมีผู้เข้าร่วมคิดเป็นร้อยละ 72 และผลการทดสอบภายหลังการอบรมได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 92.54 ทั้งนี้ยังได้มีการเผยแพร่นโยบายไว้บน Portal บอร์ดประชาสัมพันธ์ภายในบริษัทฯ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ในปัจจุบันการจัดการด้านพลังงานมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของประชากรโลกและ ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค รวมทั้งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตของคนในสังคมเพิ่มตามไปด้วย กลุ่มบริษัทได้ตระหนักถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และเล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งยังเป็นแหล่งปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจขององค์กร จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิต รวมทั้งลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน โดยมีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและน้ำอย่างยั่งยืนไว้เป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติในนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ ได้มีการมอบหมายให้แผนกธุรการดูแลการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในอาคารสำนักงาน โดยมีการมองหาพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ อันจะส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินงานด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

TTA

พลังงานเป็นต้นทุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามการใช้พลังงาน สร้างผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 7 (SDG 7) และ 13 (SDG 13) เพื่อลดผลกระทบจากการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นบริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า

ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนงานในการบริหารจัดการพื้นที่สำนักงาน ด้วยการจัดสรรพื้นที่ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาธิเช่น เปลี่ยนสถานที่ทำงานของพนักงานในฝ่ายหรือแผนกที่มีจำนวนคนน้อยให้ทำงานในพื้นที่เดียวกับฝ่ายหรือแผนกที่มีจำนวนคนมาก และยังคงมีพื้นที่ว่างเพียงพอ ทั้งนี้ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ความเหมาะสม และความสะดวกในการทำงานของพนักงานเป็นสำคัญ และสอดคล้องตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผลจากแผนงานดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงภายหลังจากการบริหารจัดการพื้นที่ โดยบริษัทฯ ใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 736,344 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงน้อยกว่าปี 2565 ร้อยละ 10.92 บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการไฟฟ้านครหลวงปรับค่าไฟต่อยูนิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่บนอาคารพาณิชย์และมีการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผ่านนิติบุคคล ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้น ค่าไฟเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ค่าไฟฟ้าในปีที่ผ่านมาจึงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30.18

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของ TTA
  2564 2565 2566
ค่าไฟฟ้า (บาท) 3,648,496 3,719,529 4,842,129 ↑ ร้อยละ 30.18
หน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) 810,777 826,587 736,344 ↓ ร้อยละ 10.92
ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงของ TTA
2564 2565 2566
น้ำมันดีเซล (ลิตร)
2,205 3,682 3,586 ↓ ร้อยละ 2.61
น้ำมันเบนซิน (ลิตร)
4,919 9,599 13,794 ↑ ร้อยละ 43.7

โทรีเซน ชิปปิ้ง

โทรีเซน ชิปปิ้ง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งมั่นดำเนินงานให้สอดคล้องตามนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ รวมถึงการดำเนินงานตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ บริษัทจัดตั้งฝ่ายปฏิบัติการซ่อมบำรุง (Marine Operations and Technical Team) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนทางเทคนิคและกำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดจากการเดินเรือ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือภาคผนวกที่ 6 (MARPOL Annex VI)

โทรีเซน ชิปปิ้ง มีการติดตั้งระบบไฟแบบ LED บนเรือทุกลำเพื่อลดการใช้พลังงาน มีการดำเนินการปรับปรุงระบบสีลำเรือให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เรือขนส่งสินค้าของโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้มีการใช้ระบบควบคุมปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่น (Alpha Lubricator) กระบอกสูบเครื่องจักรใหญ่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเพิ่มความเร็วบริเวณเพลาใบจักรเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเรือให้สามารถแล่นได้เร็วขึ้นในขณะที่ใช้รอบเครื่องจักรเท่าเดิม ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือ และได้มีการจัดทำ Onboard Management Manual for Engine Power Limitation (EPL) ซึ่งเป็นคู่มือการจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน และได้รับการรับรองจากสมาคมผู้ตรวจสอบมาตรฐานเรือ

PMTA

PMTA ได้เข้าไปลงทุนใน บริษัท บาคองโค จำกัด หรือ “Baconco” ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรได้ดำเนินธุรกิจหลักในการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรในประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วย ปุ๋ยเคมีเชิงผสม NPK (NPK Compound Fertilizers) ปุ๋ยเคมีเชิงเดี่ยว (Single Fertilizers) ปุ๋ยเคมีเชิงประกอบ และปุ๋ยทางใบ (Foliar) นอกจากนี้ ยังจำหน่ายสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดแมลงในประเทศเวียดนามอีกด้วย ซึ่งในการผลิตดังกล่าว อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในปริมาณมากได้ ดังนั้น PMTATMA จึงมีการบริหารจัดการด้านพลังงานโดยจัดให้มี Periodic energy audit เพื่อคอยติดตามตรวจสอบ และประเมินด้านพลังงานของบริษัทในทุกรอบปีของการดำเนินงาน

นอกจากนี้ PMTA กำหนดให้มีมาตรการในการลดการใช้พลังงาน เช่น กำหนดให้มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องจักรให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพ รณรงค์ให้ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดเมื่อไม่ใช้งาน และกำหนดให้มีการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องทำงานไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการหลักในการบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานของบริษัท

PHC

บริษัทดำเนินธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “พิซซ่า ฮัท” พลังงานเป็นต้นทุนหลักในการประกอบกิจการทั้งการผลิตสินค้า การกระจายวัตถุดิบ และการขนส่งสินค้า การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2566 ราคาพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุน การผลิตและการขนส่งเพิ่มขึ้น บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยริเริ่มโครงการ ดังนี้

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า

    บริษัทจัดทำคู่มือให้พนักงานปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในร้านให้มีประสิทธิภาพ การบำรุงรักษา และการเปิด-ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการฝึกอบรมทบทวนความเข้าใจให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ และว่าจ้างบริษัทภายนอกเพื่อบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ระบบปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

    ในปี 2566 บริษัทอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่สาขาต่างๆ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ปัญหาที่พบ คือ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง และระยะเวลาคืนทุนจากการประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเป็นเวลานาน นอกจากนี้ มีข้อจำกัดเรื่องอายุสัญญาเช่าอาคารกับผู้ให้เช่า และการขออนุญาตผู้ให้เช่าในการใช้สถานที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

  2. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานน้ำมัน

    บริษัทมีการว่าจ้างคู่ค้าในการให้บริการขนส่งกระจายวัตถุดิบจากคลังสินค้าไปสาขาทั่วประเทศ โดยกำหนดให้คู่ค้าวางแผนระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และกำหนดรอบเวลาการขนส่งให้สอดคล้องกับแผนการเบิกจ่ายวัตถุดิบเข้าสาขา บริษัทมีจัดทำคู่มือปฏิบัติงานแก่พนักงานสาขา เพื่อให้มีวิธีการบริหารจัดการและเบิกจ่ายวัตถุดิบแต่ละรอบให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อประมาณการณ์ยอดขาย รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ

    ในปี 2566 บริษัทเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการทดลองนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากบริษัทในเครือมาใช้ในการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ปัญหาที่พบ คือ สถานีที่ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังมีจำกัด ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละรอบค่อนข้างนาน ทั้งนี้ โครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับบริษัทในเครือต่อไป

เป้าหมายของ PHC ระยะสั้น ยังคงมุ่งเน้นศึกษาความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจจากการประหยัดขนาด (Economies of Scales) จากการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และในการเปิดสาขาใหม่ PHC สามารถศึกษาหาข้อมูลรูปแบบสาขาใหม่ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลง และมีความทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ประหยัดพลังงานได้จากแหล่งข้อมูลของ Global Supply Chain ของบริษัท ยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการประหยัดพลังงานในอุปกรณ์หลายชนิด รวมทั้งพิจารณาเลือกใช้และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงานภายในร้าน เช่น หลอดไฟฟ้า (LED) เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น มาตรการดังกล่าวนอกจากจะสามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

การดำเนินงานที่สำคัญ

ในปี 2566 PHC สามารถบริหารจัดการการใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้รวมทั้งปีอยู่ที่ 25.2 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงร้อยละ1.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตามค่าไฟฟ้าต่อหน่วยปรับสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 11.4 ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมสูงขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปี 2565

AIM

ในการดำเนินธุรกิจของ AIM ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครบวงจร และพร้อมที่จะหาโอกาสขยายการให้บริการด้านนี้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบัน AIM มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) บริเวณพื้นที่สำนักงาน เพื่อลดปริมาณการซื้อไฟฟ้า และสนับสนุนการประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว
AIM
ในปี 2566 เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดของสำนักงาน บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในสำนักงานได้ปริมาณ 6 กิโลวัตต์/เดือน และสามารถลดค่าไฟได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท และในอนาคต AIM ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผนขยายโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังบริษัทย่อยอื่นๆ ต่อไป
AIM

นอกจากนี้ AIM ยังให้ความสนใจและหันมาลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทได้ลงทุน ในธุรกิจให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าในลำคลองภายในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มดำเนินการที่คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อช่วยลดมลภาวะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท โรงพยาบาลศรีระยอง และโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปให้เพิ่มขึ้นในสังคมไทยได้เช่นกัน

เมอร์เมด

การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งการริเริ่มที่สำคัญด้านความยั่งยืนในการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด จาก 62,041 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2565 เป็น 57,290 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2566 โดยการลดลงของต้นทุนร้อยละ 7.5 นี้เกิดขึ้นทั้งจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และการปรับการดำเนินงานภายในองค์กร รวมถึงการปิดการดำเนินการบางส่วนของสำนักงานในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมน้อย

เมอร์เมดอาจพิจารณาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการพึ่งพากำลังไฟฟ้าที่รับซื้อที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยอาจติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ประหยัดพลังงาน ระบบไฟส่องสว่าง LED เปิด/ปิดอัตโนมัติ และไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จอดรถ ทั้งนี้ การดำเนินการเหล่านี้มุ่งเน้นลดการพึ่งพาการซื้อกำลังไฟฟ้า เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อการประหยัดด้านเศรษฐกิจและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายคือการลดความเข้มข้นของพลังงานร้อยละ 5 จากข้อมูลปี 2566

การบริหารจัดการน้ำ

การบริหารจัดการน้ำ

ทรัพยากรน้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งยังมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆ โดยในปัจจุบัน ปริมาณความต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาทรัพยากรน้ำในหลายๆ ด้าน เช่น การขาดแคลนน้ำใช้ คุณภาพของน้ำใช้และน้ำทิ้ง และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่เหมาะสม (มีการใช้น้ำในปริมาณ ที่มากเกินความจำเป็น หรือมีพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง) เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังตระหนักถึงปัญหา ที่เกิดจากการดำเนินงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดน้ำเสียด้วยเช่นเดียวกัน

กลุ่มบริษัทเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งมั่นในการบำบัดน้ำเสียให้ไปเป็นตามกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องเพื่อนำน้ำดังกล่าวมาใช้ใหม่ในกระบวน การผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการซื้อน้ำดิบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำเสีย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำเสีย โดยจะสามารถนำไปสู่การลดความเสี่ยงด้านมลพิษทางน้ำ และส่งผลให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างสงบสุข โดยกลุ่มบริษัทมีแนวปฏิบัติด้านการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งระบุอยู่ในนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้บริษัทในเครือ ได้มีการดำเนินงานให้สอดคล้องตามแนวปฏิบัติตามนโยบายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ

TTA

TTA ตั้งเป้าหมายลดปริมาณน้ำภายในสำนักงานใหญ่ลงอย่างน้อยร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า

ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนงานในการบริหารจัดการพื้นที่สำนักงาน ด้วยการจัดสรรพื้นที่ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาธิเช่น เปลี่ยนสถานที่ทำงานของพนักงานในฝ่ายหรือแผนกที่มีจำนวนคนน้อยให้ทำงานในพื้นที่เดียวกับฝ่ายหรือแผนกที่มีจำนวนคนมาก และยังคงมีพื้นที่ว่างเพียงพอ ทั้งนี้ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ความเหมาะสม และความสะดวกในการทำงานของพนักงานเป็นสำคัญ และสอดคล้องตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผลจากแผนงานดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำลดลงภายหลังจากการบริหารจัดการพื้นที่ โดยบริษัทฯ ใช้น้ำไปทั้งสิ้น 1,842 ลูกบาศ์กเมตร ลดลงน้อยกว่าปี 2565 ร้อยละ 14.37 บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการลดปริมาณการใช้น้ำลงร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า และสามารถประหยัดค่าน้ำได้ จำนวน 6,180 บาท

ปริมาณการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของ TTA
  2564 2565 2566
ค่าน้ำ (บาท) 37,520 43,020 36,840 ↓ ร้อยละ 14.37
หน่วย (ลูกบาศก์เมตร) 1,876 2,151 1,842 ↓ ร้อยละ 14.37

โทรีเซน ชิปปิ้ง

โทรีเซน ชิปปิ้งจะยังคงมีเป้าหมายในการดำเนินงานตามกฎระเบียบข้อบังคับสากลอย่างต่อเนื่องใน การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำบนเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการเติมน้ำจืดจากระบบสาธารณูปโภคของประเทศปลายทางหรือการซื้อน้ำจืดจากผู้ขายในประเทศที่เรือไปถึง ยังมีการกลั่นน้ำทะเลมาเป็น น้ำจืดโดยเครื่องกลั่นน้ำ (Freshwater Generator) ซึ่งติดตั้งไว้บนเรือทุกลำ โดยการนำน้ำทะเลมาต้มในระบบความดันสูญญากาศให้ระเหยเป็นไอน้ำ และเมื่อไอน้ำโดนความเย็นจะควบแน่นเป็นหยดน้ำ โดยจะถูกลำเลียงไปยังถังบรรจุน้ำจืดบนเรือต่อไป โดยที่ระบบน้ำดังกล่าวจะถูกฆ่าเชื้อด้วยระบบ Ultraviolet (UV) และมีระบบกรองน้ำก่อนที่จะถูกนำมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวันบนเรือต่อไป

บริษัทได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมและจัดการน้ำอับเฉาเรือ (Ballast water treatment: BWT) บนเรือทั้งหมดจำนวน 24 ลำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง มีมาตรฐาน และได้รับการรับรองในระดับสากล จึงเชื่อถือได้ว่ากระบวนการการจัดการน้ำอับเฉาเรือของกองเรือโทรีเซนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขจัดปัญหาการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ที่ปะปนมากับน้ำอับเฉาเรือไม่ให้แพร่จากภูมิภาคหนึ่งไปยังอีกภูมิภาคหนึ่งของโลกได้ ซึ่งทำให้การปล่อยน้ำอับเฉาของกองเรือโทรีเซนไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา และความหลากหลายทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำแผนการบำรุงรักษา ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ BWT (Ballast water treatment) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดย IMO (International Maritime Organizations) และหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ควบคุมและจัดการน้ำอับเฉาเรือ (Ballast water treatment: BWT) สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

PMTA

สำหรับ PMTA จะเน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำเสีย โดยมีผู้รับเหมาจากภายนอก ซึ่งได้รับใบอนุญาตในการจัดการของเสียมาดูแลจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจให้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการบริหารจัดการ การใช้น้ำ โดยกำหนดให้มีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ กำหนดให้ล็อคหรือปิดวาล์วน้ำเมื่อไม่ใช้งาน คอยดูแลจัดการเปลี่ยนอุปกรณ์และท่อที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการรั่วไหล และควบคุมปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวันของแต่ละแผนกอย่างมีประสิทธิภาพ โดย PMTA จะทำการบันทึกจำนวนมาตรวัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นของแต่ละวัน รวมทั้งประเมินปริมาณการใช้น้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแต่ละวันเช่นกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้การบริหารจัดการการใช้น้ำสำหรับกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และช่วยลดการใช้น้ำเกินความจำเป็น นำไปสู่การลดต้นทุนในการใช้น้ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม PMTA ยังมีการวางระบบการบำบัดน้ำเสีย และดำเนินการตรวจสอบ ติดตามผล พร้อมทั้งรายงานการบริหารจัดการของเสียและน้ำเสียต่อภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ

ในปี 2566 PMTA มีการควบคุมการใช้น้ำของพนักงาน และคู่ค้า มีการควบคุม ตรวจสอบ และแก้ไขการรั่วไหลของน้ำตามท่อต่างๆ มีการบันทึกจำนวนมาตรวัดน้ำที่ใช้โดยแบ่งตามประเภทที่ใช้น้ำในการผลิตในแต่ละวัน มีการประเมินปริมาณการใช้น้ำรายวันเพื่อควบคุมให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการกำหนดให้ส่งอีเมลแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือฝ่ายผลิตที่เกี่ยวข้อง หากตรวจพบว่ามีการใช้น้ำเกินกำหนดหรือที่ตั้งเป้าไว้

PHC

PHC ตั้งเป้าหมายระยะสั้น ในการกำหนดให้มีการรักษามาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพน้ำไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสาขาทั้งหมดที่ได้รับการตรวจสอบ (ตรวจสอบทุกสาขา)

PHC ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสียจากการดำเนินธุรกิจ โดยเชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ ซึ่งช่วยลดค่าน้ำ และลดต้นทุนการซื้อน้ำดิบมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณน้ำเสีย และลดค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการน้ำเสียได้เช่นกัน โดย PHC จะกำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์หรือสุขภัณฑ์ที่ลดปริมาณการใช้น้ำ เช่น ก๊อกน้ำแบบเหยียบ ก๊อกน้ำแบบเพิ่มฟองอากาศ (Air Bubble) และมีช่างซ่อมบำรุง (Handy man) ที่คอยให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์หรือสุขภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงานในสาขา เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียด้วย โดยก่อนเปิดร้านจะมีการอบรมพนักงานในการใช้น้ำตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมี การอบรมเรื่องปัญหาที่จะพบ ในบ่อดักไขมัน/บ่อ PVC ทั้งข้อห้ามและวิธีการทำความสะอาดต่างๆ เป็นต้น

ทุกสาขาของ PHC จะมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่พื้นที่สาธารณะ โดยติดตั้งบ่อดักจับไขมันเพื่อแยกไขมันที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจไม่ให้ปนเปื้อนกับน้ำ ก่อนปล่อยน้ำสู่ระบบท่อรวมของห้างสรรพสินค้าที่ร้านค้าดำเนินการอยู่ ซึ่งจะดำเนินงานโดยพนักงานหน้าร้านในการช้อนไขมันที่อยู่บนผิวน้ำ แล้วนำไปแยกทิ้ง สำหรับน้ำที่ไม่มีไขมันจะไหลสู่ระบบรวมต่อไป โดยจะมีหน่วยงานสาธารณสุขจากภายนอกสุ่มตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ 3 เดือน จะมีการจ้างหน่วยงานเทศบาลมาสูบบ่อเพื่อเป็นการกำจัดเศษไขมันที่อาจเหลือค้างให้หมดอีกครั้ง นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการตรวจร้านของ PHC ได้กำหนดว่า ร้านทุกร้านจะต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์น้ำใช้ประจำปี ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อ Coliform และ E. Coli ในน้ำ รวมถึงค่าการตรวจวิเคราะห์ผลทางเคมี โดยผลที่ได้นั้นจะต้องเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่วนน้ำทิ้งหรือน้ำเสียจะต้องผ่านบ่อบำบัดตามมาตรฐานระบบสุขาภิบาลเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งอาคารต่อไป

AIM

สำหรับธุรกิจบริหารทรัพยากรน้ำ AIM ถือเป็นบริษัทบริหารจัดการน้ำ และระบบสาธาณูปโภคครบวงจร โดยกิจกรรมหลักของบริษัท คือ การลดน้ำสูญเสียในระบบประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง นอกจากนี้บริษัทยังขยายธุรกิจไปในส่วนของการบำบัดน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม และแม่น้ำลำคลอง โดย AIM มีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และตอบแทนสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท อาทิเช่น การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 มุมมอง คือ การจัดการน้ำ และน้ำเสีย และการจัดการพลังงาน มีรายละเอียด ดังนี้

  1. นวัตกรรมตัวกลางชีวภาพ เพื่องานด้านการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  2. งานระบบผลิตน้ำประปาที่ใช้พื้นที่และพลังงานน้อยลง และการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย (Non-Revenue Water) ร่วมกับการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำประปาและสามารถดื่มได้แบบเคลื่อนที่
  3. เพิ่มศักยภาพในการบำบัดน้ำในคลองที่เน่าเสียให้ สะอาด ลดการสะสมเชื้อโรค

เมอร์เมด

ความมุ่งมั่นของเมอร์เมดต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมนั้น เห็นได้จากกลยุทธ์การจัดการน้ำที่ครอบคลุม ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบ MARPOL โดยบริษัทดำเนินการแนวปฏิบัติขั้นสูงในการบำบัดและใช้ทรัพยากรน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งระบบบำบัดน้ำบนเรือในกองเรือ โดยเฉพาะสำหรับน้ำอับเฉา

นอกเหนือจากการดำเนินงานทางทะเล เมอร์เมดยังมุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างยั่งยืนในสถานประกอบการบนฝั่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงาน คลังสินค้า และโรงปฏิบัติงานในหลายประเทศ โดยการดำเนินการในสถานประกอบการบนฝั่งเหล่านี้อาศัยแหล่งน้ำซื้อและสำรองสำหรับกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การฝึกดำน้ำ

แม้ว่าปัจจุบันสำนักงานของเมอร์เมดยังไม่มีระบบรีไซเคิลน้ำ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็กำลังมองหาทางเลือกอย่างแข็งขัน เพื่อยกระดับความยั่งยืนของน้ำในสถานที่เหล่านี้ ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นการจัดการการใช้น้ำประปามากกว่าน้ำดื่ม

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หนึ่งในประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลให้ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่มีความผันผวนสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น การเกิดปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น หรือระยะเวลาภัยแล้ง และอุทกภัยที่ยาวนานขึ้น เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน และได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) โดยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมรับรองพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ภาคีสมาชิกกำหนดความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันระดับโลกในการจัดการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP27 โดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (Glasgow Climate Pact) ที่มุ่งมั่นในมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี ค.ศ. 1900 หรือ พ.ศ. 2443) และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage) ซึ่งเป็นกองทุนด้านการเงินที่จัดตั้งโดยกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักเพื่อช่วยเหลือ บรรเทาการสูญเสีย และชดเชยให้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่มากพอที่จะรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงความสามารถในการปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้มีการตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) ใน 3 สาขา ได้แก่ 1) สาขาพลังงานและขนส่ง 2) สาขาของเสีย และ 3) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ซึ่งกลุ่มบริษัทจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมในเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดทั้ง ห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนการบริหารจัดการของเสีย เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของประเทศไทยดังกล่าว และตอบสนองต่อความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนชั้นนำของเอเชีย รวมทั้งการดูแลกิจการที่เข้าไปลงทุนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท
ความเสี่ยง โอกาสและความเสี่ยง การคาดการณ์ผลกระทบต่อกลุ่มบริษัท
ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสียงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น การดำเนินงานหยุดชะงัก ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด ถูกเรียกเบี้ยปรับ เรียกร้องค่าเสียหาย ฐานผิดนัดตามสัญญา รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อาจส่งผลต่อการปรับตัวขององค์กร ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดจากความคาดหวังของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น
ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ และกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งรณรงค์พลังงานสะอาดภายในปี 2579 การปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้กฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจต้องใช้เงินลงทุนในบางโครงการสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้
ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ความเสี่ยงจากผลกระทบทางกายภาพแบบเฉียบพลันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ข้อจำกัดของการขนส่ง และความลำบากของพนักงานในการเดินทาง เป็นต้น พนักงานไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานได้ ทำให้กระบวนการดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนด รวมถึง ขาดกำลังพลในการดำเนินธุรกิจ และอาจส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก
แนวทางการบริหารจัดการด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ

กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีนโยบาย และมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดเป้าหมายและวางกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและยาว มีการคิดค้นนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้บริษัทฯ ในเครือต่างๆ ที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุนมีการกำหนดมาตรการในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างเคร่งครัด และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหานี้ร่วมกับสังคม

ผลการดำเนินงานด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โทรีเซน ชิปปิ้ง

โทรีเซน ชิปปิ้ง กำหนดค่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตามมาตรฐานของ IMO ต่อเนื่องทุกปี

โทรีเซน ชิปปิ้ง มีการติดตามกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด โดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดเตรียมแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานสูงสุด อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาปรับปรุงเครื่องยนต์เรือ บริหารจัดการกองเรือให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดค่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณร้อยละ 5 ภายในปี 2566 และปีละอีกร้อยละ 2 ในปี 2567 และ 2568 โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาการดำเนินงานให้มีความเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสีย ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ บริษัทยังคงทำแผนงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) กำหนด โดยทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และจัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสอบระบบการกำจัดของเสียต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังคงมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนเรือให้มีการตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยผ่านมาตรการและแผนงานต่างๆ เช่น การจัดให้มีการคัดแยกขยะบนเรือ และการลดปริมาณการใช้พลาสติกบนเรือ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์บนเรือซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ปรับแต่งลดรอบเครื่องยนต์เพื่อให้อัตราการ เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงลดน้อยลง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินเรือ ระดับความเร็ว (speed) ที่เหมาะสม และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำ (Very Low Sulfur Fuel Oils: VLSFO) ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจของ โทรีเซน ชิปปิ้ง ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มุ่งเน้นการลดมลพิษทางอากาศ ทำให้บริษัทของเรามีความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งยังก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการที่จะทำธุรกิจกับองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

ในปี 2566 ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรเดินเรือระหว่างประเทศ (International Marine Organization) ในส่วนที่เกี่ยวกับดัชนี EEXI (Energy Efficiency Existing Ship Index) และ CII (Carbon Intensity Index) เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา

ในปัจจุบันกองเรือของบริษัทได้มีการดำเนินการปรับปรุงด้านเทคนิคเพื่อลดปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับกำลังเครื่องยนต์และความเร็วของเรือ โดยปัจจุบันกองเรือทั้งหมดของโทรีเซน ชิปปิ้ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน EEXI (Energy Efficiency Existing Ship Index) ที่กำหนด โดยในจำนวนเรือทั้งหมด 24 ลำ มีเรือจำนวน 8 ลำที่สามารถแล่นได้โดยใช้ความเร็วสูงสุดตามคุณลักษณะของเรือ และเรือที่เหลืออีก 16 ลำแล่นโดยใช้ความเร็วตาม EPL (Engine Power Limitation) ที่กำหนด ในส่วนของดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity Index: CII) ของกองเรือ โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้รับการจัดอันดับคะแนนผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คือ อยู่ในระดับ A – C

ในปี 2566 บริษัทสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 340,487 ตันคาร์บอน (tCO2) ในปี 2565 เป็น 303,009 ตันคาร์บอน (tCO2) ลดลงร้อยละ 11 ทั้งนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐาน และพัฒนาประสิทธิภาพทางเทคนิคของกองเรือ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเป็นไปได้อย่างดีมีประสิทธิภาพสูงสุด

PHC

PHC ตระหนักและตื่นตัวในเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น โดยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอาหาร PHC จะสนับสนุนและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจากการดำเนินงานของบริษัท พบว่าจะมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากสารทำความเย็นทั้งในส่วนของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่ใช้เก็บวัตถุดิบ รวมถึงการใช้ไฟฟ้าในการทำอาหาร และอำนวยความสะดวกภายในสาขาต่างๆ สาเหตุหลักที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประหยัดพลังงาน คือ การเลือกใช้อุปกรณ์การทำงานที่เหมาะสม PHC จึงกำหนดให้มีการเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในร้าน Pizza Hut เพื่อช่วยบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในร้านได้ และสำหรับร้านค้าสาขาที่สร้างใหม่ ทางบริษัทจะพิจารณาเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R32 (สำหรับร้านที่ใช้ระบบเครื่องปรับอากาศระบบน้ำยา) นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงการพัฒนาต่างๆ โดยได้ร่วมมือกับทางบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการตรวจสอบระบบทำความเย็นภายในร้านโดยดูทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน การวางแผนผังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้งานให้ถูกต้อง เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นสิ่งที่ PHC เล็งเห็นว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เบื้องต้น คือ การเลือกใช้อุปกรณ์ในการดำเนินงานต่างๆ อย่างเหมาะสมและประหยัดพลังงานมากที่สุด

เมอร์เมด

ข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทบ่งชี้ว่าแหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซภายใต้ขอบเขต 1 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (eCO2) มาจากเรือที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของกรมเจ้าท่า โดยทั่วไปแล้วเรือของบริษัทเมอร์เมดจะใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติสำหรับเรือเดินทะเล (MGO) เป็นเชื้อเพลิงบังเกอร์ ซึ่งเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้ ก็จะเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งนี้ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คำนวณโดยใช้ปัจจัยการแปลงคาร์บอนตามสูตรมาตรฐาน โดยคำนึงถึงประเภทและปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้

ก๊าซเรือนกระจก - ขอบเขตที่ 1 2564 2565 2566 เป้าหมาย มาตรฐาน
ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง (ตัน) 8,850 7,361 13,113 ความเข้มข้นของ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า = 123 (น้อยกว่าปี 2566
5 เปอร์เซ็นต์)
GRI 305-1a
คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ตัน) 23,629 34,671 35,405
รายได้ต่อปี (000,000' ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 112 224 274
ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ตัน/ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 221 155 129

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นสองเท่า ส่งผลให้มีการเดินเรือเพิ่มขึ้นและมีการใช้ MGO เป็นเชื้อเพลิงบังเกอร์มากขึ้น ดังนั้น เพื่อเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนแบบปีต่อปี ข้อมูล eCO2 จึงมีการปรับให้เป็นค่ามาตรฐานตามรายได้ของธุรกิจก่อนคำนวนความเข้มข้นของ eCO2 เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

ในปี 2566 มีการรวบรวมข้อมูลสำหรับเรือจำนวนรวม 5 ลำที่เมอร์เมดเป็นเจ้าของและดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลสำหรับเรือ 2 ลำเท่านั้น โดยพบว่าแนวโน้มความเข้มข้นของ eCO2 เป็นไปในทิศทางที่ดี ลดลงอย่างเห็นได้ชัดร้อยละ 46 จากปี 2562 ถึง 2565 อนึ่ง สำหรับเรือจำนวนรวม 5 ลำในปี 2566 ประกอบไปด้วยเรือ 2 ลำจากปีก่อนหน้า (ป๊ 2562 ถึง 2565) และเรืออีก 2 ลำที่ไม่ได้ปฏิบัติการและอยู่ภายใต้การดำเนินการของพันธมิตรกิจการร่วมค้า ปัจจุบัน เมอร์เมดดำเนินโครงการที่นำไปสู่การลดความเข้มข้นของ eCO2 ได้แก่

  • การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องยนต์เรือในปัจจุบัน ผ่านการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนปฏิบัติงานและ การปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์
  • การสนับสนุนลูกค้าด้วยการนำเสนอคุณค่า ‘สีเขียว’ ที่ยั่งยืน ในการซื้อและจัดหาเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำ และการปฏิบัติการตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โดยทั่วไปเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำ จะมีปริมาณกำมะถันน้อยกว่าร้อยละ 0.05
  • การติดตั้งเครื่องยนต์เรือใหม่ที่ใช้ไบโอดีเซล (เมทานอล) และชุดแบตเตอรี่ไฮบริด
  • การปรับปรุงฮาร์ดแวร์เพื่อประสิทธิภาพการต้านทานการสึกหรอ
  • การเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อน เพื่อลดการการนำเรือและการใช้เชื้อเพลิงมากเกินความจำเป็น สำหรับการวางตำแหน่งแบบไดนามิก (Dynamic Positioning) ในทะเลเปิดและมหาสมุทร

นอกจากนี้ เมอร์เมดอาจพิจารณาติดตั้งระบบตรวจสอบเชื้อเพลิงระยะไกล (RFMS) พร้อมมาตรวัดอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเสริมประสิทธิภาพการใช้งานเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ เมอร์เมดกำหนดใช้ข้อมูลปี 2566 เป็นเกณฑ์บรรทัดฐานใหม่ เพื่อครอบคลุมถึงกองเรือที่ขยายขึ้น โดยตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นของ eCO2 อีก 5 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกของสหประชาชาติในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ข้อมูลการจัดส่งทั้งหมดรวบรวมโดย DNV ดังนั้นจึงมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ให้มาเพิ่มเติมในครั้งนี้

ความมุ่งมั่นของเมอร์เมดในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมถึงการจัดการการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับกำลังไฟฟ้าที่ซื้อภายใต้ขอบเขตที่ 2 โดยความพยายามของบริษัทในการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบูรณาการแหล่งพลังงานหมุนเวียน

ก๊าซเรือนกระจก - ขอบเขตที่ 2 2564 2565 2566 เป้าหมาย มาตรฐาน
ปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้า ความเข้มข้นของ eCO2 = 1.56 (น้อยกว่าปี 2023 5 เปอร์เซ็นต์) GRI 305-2a
กำลังไฟฟ้าที่ซื้อ (KwH) 1,473,503 611,646 932,952
eCO2 (ตัน) 723 283 417
การผลิตพลังงานทดแทน N/A N/A 81,840
eCO2 (ตัน) N/A N/A 33
รวม (ตัน) 112 224 274
รายได้ต่อปี (000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 112 224 274
ความเข้มข้นของ eCO2 (ตัน/000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 6.5 1.3 1.6

กำลังไฟฟ้าที่ซื้อส่วนใหญ่สำหรับใช้ในสำนักงาน และการดำเนินงานบนบก เช่น คลังสินค้าและโรงงาน

อัตราความเข้มข้นของ eCO2 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 มีความไม่สม่ำเสมอระหว่าง 6.5 ถึง 7.0 ทั้งนี้ ในปี 2565 ปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ซื้อลดลงในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นสองเท่า อนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2566 ได้มีการเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ซื้อได้ลดลง โดยอัตราความเข้มข้น 1.62 จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์บรรทัดฐานสำหรับการเปรียบเทียบในอนาคต

คุณภาพอากาศ

เมอร์เมดมุ่งมั่นปรับปรุงคุณภาพอากาศผ่านการจัดการและลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ที่เกิดจากการดำเนินงานของกองเรืออย่างมีประสิทธิภาพ

คุณภาพอากาศ 2564 2565 2566 เป้าหมาย มาตรฐาน
การปล่อยก๊าซ SOx 968 N/A 524 ความเข้มข้นของ NOx = 1.82 (น้อยกว่าปี 2566 5 เปอร์เซ็นต์) GRI 305-1a
รายได้ต่อปี (000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 112 224 274
ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซ SOx (ตัน/000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 9 N/A 1.9
การปล่อย NOx (ตัน) 1011 N/A - ความเข้มข้นของ SOx = 4.05 (น้อยกว่าปี 2566
5 เปอร์เซ็นต์)
รายได้ต่อปี (000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 112 224 274
ความเข้มข้นของการปล่อย NOx (ตัน/000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 9 N/A 4.2

ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) คำนวณจากข้อมูลมลพิษทางอากาศจากไอเสียของเรือตามสูตรมาตรฐาน โดยข้อมูลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีความไม่สม่ำเสมอ และอยู่ระหว่าง 9-12 ตัน/ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา อนึ่ง ไม่มีข้อมูลสำหรับปี 2565 ทั้งนี้ สำหรับปี 2566 พบแนวโน้มการปล่อยก๊าซมลพิษลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การคำนวณอาจแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซในปี 2566 จะถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์บรรทัดฐานสำหรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซร้อยละ 5 ในปี 2567

นอกเหนือจากโครงการปัจจุบันและโครงการใหม่ที่มุ่งลดความเข้มข้นของ eCO2 ของเมอร์เมดแล้ว เมอร์เมดยังพิจารณาติดตั้งเครื่องฟอกและเซ็นเซอร์ในปล่องไอเสีย เพื่อทำความสะอาดและลดมลพิษทางอากาศได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด

การบริหารจัดการของเสีย

การบริหารจัดการของเสีย

ในการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลายนั้น ย่อมก่อให้เกิดของเสียในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอยภายในอาคารสำนักงาน น้ำเสียจากอุตสาหกรรม น้ำอับเฉาเรือ เศษวัตถุดิบจากการประกอบอาหาร ขยะพลาสติก รวมถึงสารเคมี และของเสียในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมโดยรอบพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจ รวมถึงต้นทุนที่ใช้ในการกำจัดของเสียที่อาจเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการของเสีย โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการของเสีย เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งลดปริมาณการเกิดของเสียให้น้อยที่สุดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ บริหารจัดการของเสียภายในองค์กรด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยยึดแนวปฏิบัติ 5Rs ได้แก่

5Rs practical
  • Reduce (การลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น)
  • Reuse (การนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ)
  • Recycle (การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่)
  • Recovery (การเปลี่ยนทรัพยากรให้ได้มาซึ่งพลังงานใหม่ กรณีไม่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้)
  • Repurpose (การเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้)

บริษัทฯ ยังมีการจัดทำระบบติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการของเสีย โดยตรวจสอบตั้งแต่การแยกประเภท การจัดเก็บ การขนส่ง และการนำไปกำจัด ซึ่งจะมีการระบุปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นและนำส่งไปกำจัดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการจัดอบรม รณรงค์ ติดประกาศตามสถานที่หรือตามถังขยะภายในสำนักงาน เพื่อความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริหารจัดการของเสียต่อพนักงานของบริษัทฯ และเพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมออีกด้วย ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติในการบริหารจัดการของเสียข้างต้นจะสามารถช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของเสียของบริษัทฯ รวมทั้งยังสามารถนำของเสียที่ผ่านกระบวนการคัดแยก เช่น กล่องกระดาษ กระดาษที่ผ่านการใช้แล้ว และน้ำมันที่ใช้แล้ว เป็นต้น ไปจำหน่ายหรือเพิ่มมูลค่าในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกด้วย

ผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการของเสีย

TTA

TTA ตั้งเป้าลดใช้ขยะไม่อันตราย (กระดาษ) ลงร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า

ในปี 2565 บริษัทฯ ดำเนินโครงการลดการใช้ขยะไม่อันตราย (กระดาษ) ผลการดำเนินโครงการพบว่าปริมาณคำสั่งซื้อกระดาษเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงานใหญ่เต็มรูปแบบ และมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงดำเนินโครงการลดการใช้ขยะไม่อันตราย (กระดาษ) อย่างต่อเนื่องจากปี 2565 มุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของพนักงานและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้กระดาษอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษหน้าเดียว มีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้ร่วมกัน รวมถึงการฝึกอบรมผ่านรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การทดสอบออนไลน์ และการสื่อสารตามปกติ นอกจากนี้บริษัทฯ นำกระดาษที่ใช้แล้วทั้ง 2 หน้าบริจาคแก่มูลนิธิกระจกเงา เพื่อเปลี่ยน “กระดาษ” เป็น “หนังสือนิทานเล่มใหม่” ในโครงการหนังสือนิทานเล่มใหม่ ตอกย้ำความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ โครงการนี้ประสบผลสำเร็จในปี 2566 โดยปริมาณสั่งซื้อขยะไม่อันตราย (กระดาษ) ของบริษัทฯ ลดลงเหลือ 1,510 กิโลกรัม การลดลงนี้คิดเป็นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนอีกด้วย แม้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะไม่บรรลุผลเต็มที่ แต่บริษัทฯ ยังคงทุ่มเทให้กับโครงการริเริ่มการลดของเสียที่ไม่เป็นอันตราย (กระดาษ) ในปี 2567

  2564 2565 2566
จำนวนเงิน (บาท) 22,050 56,230 51,475 ↓ ร้อยละ 8.46
ปริมาณคำสั่งซื้อขยะไม่อันตราย (กระดาษ) (กิโลกรัม) 645 1,564 1,510 ↓ ร้อยละ 3.45
โครงการหนังสือนิทานเล่มใหม่

ในปี 2566 TTA ได้รวบรวม “กระดาษที่ใช้แล้วทั้ง 2 หน้า” ส่งมอบให้แก่ มูลนิธิกระจกเงา เพื่อเปลี่ยน “กระดาษที่ใช้แล้วทั้ง 2 หน้า” เป็น “หนังสือนิทานเล่มใหม่” มอบให้เด็กๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมจำนวนกระดาษที่ใช้แล้วทั้ง 2 หน้า น้ำหนักถึง 1,379 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการผลิตเป็นหนังสือนิทานเล่มใหม่ได้ 55 เล่ม (หนังสือนิทาน 1 เล่ม = กระดาษ 25 กก.) ซึ่งโครงการนี้นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการให้และปลูกฝังแนวคิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าที่สุด

New Storybook Project
โครงการจัดการขยะภายในองค์กรตั้งแต่ต้นทาง

บริษัทฯ คัดแยกขยะตามแนวคิด 5Rs เพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ด้วยการลดการใช้การนํากลับมาใช้ซ้ำ และการนําขยะกลับมาใช้ใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะภายในสำนักงาน ซึ่งได้มีการจัดเตรียมถังขยะแต่ละประเภท ติดตั้งแต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับการคัดแยกขยะรีไซเคิลและมีพื้นที่ การจัดเก็บรวมขยะ เพื่อบริหารจัดการขยะต่อไป

ในปี 2566 บริษัทฯ เริ่มต้นชั่งน้ำหนักจากการคัดแยกขยะ พบว่าปริมาณขยะไม่อันตราย เท่ากับ 3,979 กิโลกรัมทั้งนี้ ได้จัดประชาสัมพันธ์ให้พนักงานลดการใช้ และสร้างขยะทุกประเภทให้น้อยลง เพื่อก้าวสู่ชีวิตไร้ขยะฉบับเริ่มต้น ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นลดปริมาณขยะได้ง่าย ด้วยการไม่สร้างขยะตั้งแต่แรก หากว่าพนักงานสามารถตระหนักได้ว่าตนเองสร้างขยะมากเท่าไหร่ ก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิเช่น

  • การหาขวดน้ำประจำกาย : การพกขวดน้ำไปทุกที่ นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดี ยังลดจำนวนขวดพลาสติกได้มหาศาล
  • หิ้วกระเป๋าคู่ใจ : ไม่รับถุงพลาสติกและใช้กระเป๋าที่พกมาเอง เมื่อซื้อของต่างๆ ไม่เฉพาะแค่ของใช้ภายในบ้าน
  • เลิกรับจดหมาย ใบแจ้งยอดและใบปลิวแบบกระดาษ : ติดต่อธนาคารหรือผู้ใช้บริการสาธารณูปโภค เพื่อขอรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
  • ซื้อถุงขยะแบบย่อยสลายได้เท่านั้น : อ่านฉลากให้ละเอียดว่าถุงขยะย่อยสลายได้ทางชีวภาพร้อยละ 100 เพราะบางยี่ห้อสามารถย่อยสลายได้บางส่วน
โครงการเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกเป็นไตรจีวรพระ

TTA จัดโครงการ TTA Zero Waste ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ในปี 2566 TTA ได้ส่งมอบขวดพลาสติก PET ใช้แล้วที่ได้รับจากการบริจาคของพนักงานในบริษัท อีกประมาณ 2,650 ขวด รวม 2 ปี TTA ได้มอบขวดพลาสติก PET ไปเป็นจำนวน 4,302 ขวด ให้แก่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรีไซเคิลเป็นผ้าไตรจีวร สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ (ผ้าไตรจีวร 1 ชุด = 60 ขวด) ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 6.48 ตัน

Upcycling Project: Transforming Plastic Water Bottles into Monk Robes
โครงการคนไทยไร้ E-Waste

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” เพื่อร่วมกันจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างถูกวิธี โดยในปี 2566 TTA ได้เริ่มภารกิจสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ การจัดตั้งจุดรับทิ้งขยะ พร้อมเชิญชวนให้พนักงานทุกคนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งจากที่บ้านและภายในสำนักงาน มาทิ้งในกล่องรับขยะ E-Waste ที่จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีแบบไม่หลงเหลือเศษซากและปราศจากการฝังกลบแบบ Zero e-waste to landfill ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างการตระหนักรู้และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องในระดับองค์กรและระดับประเทศ

บริษัทฯ เชิญชวนพนักงานร่วมกันทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ผลการดำเนินงานถึงเดือนธันวาคม 2566 บริษัทฯ สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้จำนวนทั้งสิ้น 15 ชิ้น น้ำหนัก 9,000 กรัม หรือคิดเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวน 10.23 KgCO2 เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1 ต้น

Thai People without E-Waste Project
Thai People without E-Waste Project

PMTA

ในการดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรของ PMTA จะมี การว่าจ้างผู้รับเหมาที่มีใบอนุญาตในการกำจัดของเสีย เพื่อเข้ามาจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม ทั้งที่เป็นของเสียอันตราย และไม่เป็นอันตราย ซึ่งสอดคล้องตามกฎหมายและข้อบังคับของประเทศเวียดนาม

No operations violate

PMTA กำหนดให้มีการแยกประเภทขยะตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ และการดูแลการขนส่งของเสียให้เป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการวางระบบการบำบัดน้ำเสียและการควบคุมดูแลการปล่อยมลพิษในอากาศ โดยพยายามควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษจากการบำบัดน้ำเสีย หรือต้องบำบัดให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ปี 2562 PMTA ได้มีการดำเนินโครงการนำยางที่ใช้แล้วกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการซื้อเชื้อเพลิงมาใช้ของบริษัท และช่วยลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม PMTA ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยิ่ง และได้ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามผล และรายงานการบริหารจัดการของเสียต่อภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ

PHC

ในกลุ่มธุรกิจอาหาร PHC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการของเสีย ตั้งแต่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยตระหนักเสมอว่า เมื่อมีการจัดการต้นทุนในการผลิตสินค้า หรือวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าแล้ว จะช่วยลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถ้าสามารถลดปริมาณของเสียภายในสาขาได้ ย่อมสร้าง ผลกำไรแต่ละสาขาให้สูงขึ้น อีกทั้งลูกค้าก็ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ สดใหม่ และปลอดภัยอีกด้วย โดย PHC ได้ดำเนินการเพื่อลดปริมาณการเกิดของเสียหลักๆ ดังนี้

นอกจากการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว PHC ยังมีการนำหลักการ 4Rs มาใช้ในการดำเนินงานภายในองค์กรอีกด้วย ได้แก่

  • Reduce: ลดของเสีย โดยทางร้านจะเน้นเรื่องการวางแผนในการสั่งสินค้า และมีการจัดวางวัตถุดิบแบบ FIFO (First-In First-Out) ตามระยะเวลาในการนำสินค้าที่เข้าคลังก่อนมาใช้งานและหมุนเวียนก่อน เพื่อลดความเสื่อมสภาพ และลดของที่จะเสียเนื่องจากสั่งเกินหรือไม่ได้นำสินค้าที่จะใกล้หมดอายุมาใช้ก่อน
  • Repair: ลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมอุปกรณ์ และการเปลี่ยนอะไหล่ เนื่องจากพนักงานร้าน (handyman) สามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ได้เบื้องต้น
  • Refuse: ร้านและพนักงานเลือกที่จะปฏิบัติตามกฎที่บริษัทกำหนดไว้ โดยใช้ของให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปฏิเสธการใช้ของซ้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และซื้ออาหารที่ใส่กล่องกระดาษแทนกล่องโฟม
  • Reuse: ใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่า เช่น การใช้กระดาษ A4 ให้ครบทั้ง 2 หน้า

ในปัจจุบันสาขาของ PHC ยังไม่มีการคัดแยกของเสีย แต่ได้เริ่มดำเนินงานในส่วนของสำนักงาน Head Office เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการกำหนดให้ฝ่ายผู้รับผิดชอบ คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและบุคคล (HR Admin) ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าว

เมอร์เมด

การสร้างของเสียส่วนใหญ่ของเมอร์เมดมาจากการดำเนินงานบนเรือและบนฝั่ง ซึ่งมีของเสียทั้งที่เป็นอันตรายและที่ไม่เป็นอันตราย โดยข้อมูลระหว่างปี 2562 ถึง 2564 แสดงให้เห็นว่าการผลิตของของเสียรวมทั้งหมดอยู่ในช่วง 491 ถึง 595 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ข้อมูลปี 2565 แสดงให้เห็นว่าปริมาณของเสียเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็น 1,458 ตัน เทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า ขณะที่ข้อมูลปี 2566 แสดงปริมาณของเสียลดลงครึ่งหนึ่งจากปีก่อน

การสร้างของเสีย 2564 2565 2566
การสร้างของเสียอันตราย (ตัน) 130 95 47
การสร้างของเสียไม่อันตราย (ตัน) 465 1,362 681
การสร้างของเสียทั้งหมด (ตัน) 595 1,458 728
รายได้ต่อปี (000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) 112 224 274

เนื่องจากข้อมูลมีความไม่สอดคล้องกัน บริษัทจึงยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับปีนี้จนกว่าจะมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมในปี 2567 อย่างไรก็ตาม เมอร์เมดปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ (MARPOL) สำหรับการจัดการขยะบนเรืออย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการแยกขยะแข็งและขยะเหลวออกเป็น 5-6 ประเภท และเลือกกำจัดทิ้งในทะเลภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงกับสถานที่ทางภูมิศาสตร์ หรือบนฝั่งไปยัง ผู้รวบรวมขยะที่ได้รับอนุญาตเผาหรือฝังกลบ หรือส่งมอบให้กับลูกค้าเพื่อกำจัดตามข้อตกลงตามสัญญา ทั้งนี้ มีการดำเนินการเอกสารที่เกี่ยวข้องและการปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO14001

ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการบนฝั่ง เช่น สี หลอดไฟ และพลาสติก จะถูกแยกออกจากของเสียที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษและกระดาษแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุอันตราย เช่น พลาสติก จะถูกนำไปรีไซเคิล และกำจัดโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาต ในขณะที่วัตถุไม่อันตราย เช่น ที่นอนและปฏิทิน จะบริจาคให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อนำไปใช้ต่อ และเก้าอี้ที่ใช้แล้วจะขายให้กับพนักงานในราคาลดพิเศษเพื่อนำไปใช้ซ้ำ ขณะที่ส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดในหลุมฝังกลบของเทศบาล