สารจากประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นทุกท่าน

ปี 2566 นับเป็นอีกปีที่ TTA มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จำนวน 23,975.5 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,216.9 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) TTA มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ด้วยเงินสดภายใต้การบริหาร จำนวน 8.2 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.35 เท่า นอกจากนี้ TTA ยังมีกระแสเงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมการดำเนินงานจำนวน 3,040.8 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 2.50 เท่า สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ
TTA มุ่งขยายโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับทุกกลุ่มธุรกิจต่อไป โดยให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุน และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Environment, Social, and Governance and Economic – ESG) อันจะส่งผลให้ TTA สามารถส่งมอบมูลค่าระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ:

โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้าในระดับโลกตลอดมา ทั้งๆ ที่ เป็นบริษัทสัญชาติไทย และมีบุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย จะเห็นได้ว่า ในปี 2566 โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้รับสัญญาให้บริการขนส่งท่อส่งน้ำมันเหล็กเคลือบให้แก่โครงการขนส่งน้ำมันดิบในแถบแอฟริกาตะวันออกเป็นเวลา 3 ปี และมีลูกค้าใช้บริการขนส่งท่อนซุงในประเทศนิวซีแลนด์และขนส่งปูนซีเมนต์ในแถบแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้น ในขณะที่ สำนักงานให้เช่าเรือขนส่งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับ

โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้ค่าระวางที่ 7,369.6 ล้านบาท และอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจ สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 10,678 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน อยู่ที่ร้อยละ 27 อัตราการใช้ประโยชน์ยังคงสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 และอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าสูงสุดอยู่ที่ 28,023 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน โดยสรุป โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 1,528.4 ล้านบาท ในปี 2566 โดยเป็นเจ้าของเรือจำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน และมีอายุเฉลี่ย 15.7 ปี

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง:

บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือ เมอร์เมด มีผลการดำเนินงานดีขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2566 เมอร์เมด มีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกงานบริการ สืบเนื่องจากการขยายฐานรายได้และฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงได้สัญญางานบริการนอกชายฝั่งใหม่หลายรายการทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ซาฮาราตะวันตก และสหราชอาณาจักร มีมูลค่ารวมกันเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย โครงการวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล โครงการสำรวจ ซ่อมแซม และซ่อมบำรุงใต้ทะเล โครงการขนส่งและติดตั้ง โครงการรื้อถอนและบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ ได้เริ่มปฎิบัติการแล้วในปีนี้ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 นอกจากนี้ เมอร์เมด ยังได้จัดตั้ง บริษัทร่วมทุน ทันแคง เมอร์เมด ซับซี เซอร์วิสเซส จำกัด (TCMS) เพื่อรุกขยายงานวิศวกรรมนอกชายฝั่งที่ครบวงจรในประเทศเวียดนาม และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย

ในปี 2566 เมอร์เมด รายงานรายได้จำนวน 9,628.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะงานวิศวกรรมใต้ทะเล (Subsea-IRM) ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของงานจากเรือเช่าระยะสั้น และงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเลด้านสำรวจและซ่อมบำรุง นอกจากนี้ อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 91 ในปี 2566 และในส่วนของรายได้งานรื้อถอน (Decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation :T&I) เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากการขยายธุรกิจในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสรุป เมอร์เมด รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 199.9 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น เมอร์เมด ยังมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบที่สูงเป็นประวัติการณ์ จำนวน 734.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ณ สิ้นปี 2566

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร:

บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA เผชิญกับความท้าทายในเรื่องของราคาปุ๋ยที่ลดลง แต่ด้วยมาตรฐานของคุณภาพสินค้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง ประกอบกับการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี อีกทั้ง ยังมีนโยบายกำหนดราคาและส่วนลดที่แน่นอน เน้นการทำตลาดผ่านเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายในประเทศเวียดนามและการทำตลาดออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษาสัดส่วนกำไรไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

PMTA มีรายได้ที่ 3,778.8 ล้านบาท ในปี 2566 โดยมีปริมาณการขายปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็น 169.3 พันตัน โดยที่ปริมาณการขายปุ๋ยในประเทศเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 82 ของปริมาณการขายปุ๋ยทั้งหมด อยู่ที่ 139.1 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เนื่องจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ หากพิจารณาตามประเภทของปุ๋ย ปริมาณการขายปุ๋ยเชิงเดี่ยว (Single fertilizer) เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เป็น 41.6 พันตัน และปริมาณขายปุ๋ยเชิงผสม (NPK fertilizer) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เป็น 127.7 พันตัน ในส่วนของรายได้จากผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่นๆ (Pesticide) อยู่ที่ 285.5 ล้านบาท ในขณะที่ รายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 เป็น 109.5 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ซี่งเป็นผลมาจากการขยายอาคารคลังสินค้าเพิ่ม ประกอบกับความต้องการใช้คลังสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 39.8 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม:

พิซซ่า ฮัท มีการโฆษณาผ่านสื่อมวลชนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้แบรนด์พิซซ่า ฮัท กลับมาอยู่ในสายตาของผู้บริโภค และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้างอีกครั้ง และในปี 2566 พิซซ่า ฮัท ริเริ่มร้านรูปแบบใหม่ ชื่อว่า พิซซ่า แอนด์ บาร์ เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชีย และแห่งที่ 2 ของโลก ที่ศูนย์การค้า จังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติและนักท่องเที่ยว ซึ่งผลตอบรับดีมาก พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 185 สาขาทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

ในปี 2566 ทาโก้ เบลล์ ประสบความสำเร็จในการทำกำไรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์การขยายสาขาไปยังสถานีบริการน้ำมัน และย่านพักอาศัยรอบนอกของกรุงเทพฯ โดยเน้นที่การสร้างการรับรู้แบรนด์และการทดลองใช้บริการ ทำให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง รวมถึงการขยายไปยังเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา และภูเก็ต ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากเช่นกัน ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 25 สาขาทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

สำหรับนโยบายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นั้น TTA ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับกระแสโลก และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต รวมถึงมีความสามารถในการทำกำไรดี เช่น ธุรกิจพลังงานชีวมวล ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจฟินเทค เป็นต้น

การกำกับดูแลกิจการที่ดี:

TTA ได้รับการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการ ในเกณฑ์ “ดีเลิศ” หรือ 5 ดาว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies หรือ CGR) ประจำปี 2566 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายนี้ ในนามของคณะกรรมการบริษัท ขอขอบคุณคณะผู้บริหารและพนักงานที่อุทิศตนในการทำงานอย่างเต็มความสามารถ แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในปีนี้ก็ตาม และขอแสดงความขอบคุณต่อผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ และ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ที่ให้การสนับสนุนและไว้วางใจมาโดยตลอด TTA มุ่งมั่นที่จะสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น เหนืออื่นใด TTA จะมองหาโอกาสขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไป และยังคงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์

ประธานกรรมการ

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ

กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร